วันจันทร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2553

การขยายพันธ์พืช

การขยายพันธ์พืชโดยการแยกหน่อ

การขยายพันธุ์พืช หมายถึง การทำให้พืชมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันการขยายพันธุ์พืชเราสามารถทำได้ 2 วิธีด้วยกันคือ
- การขยายพันธุ์พืชโดยใช้เมล็ด ( ใช้เพศ ) เช่น การเพาะเมล็ด
- การขยายพันธุ์พืชโดยใช้ส่วนต่างๆของพืช ( ไม่ใช้เพศ ) การแยกหัวและหน่อ การปักชำ การติดตาต่อกิ่ง การตอนกิ่ง
การขยายพันธุ์พืชโดยการใช้หัวและหน่อ เป็นวิธีการขยายพันธุ์ที่ใช้กับพืชที่ไม่ค่อยมีเมล็ด กิ่งก้าน หรือพืชที่มีลำต้นผิดจากต้นพืชที่พบเห็นทั่วไปและพืชเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่สามารถขยายพันธุ์โดยวิธีอื่นได้ พืชที่ขยายพันธุ์หรือปลูกโดยการแยกหัวหรือ หน่อ มีลักษณะสำคัญดังนี้

1. มีลำต้นอยู่ใต้ดิน ซึ่งเราเรียนส่วนของลำต้นนี้ว่า หัว เหง้า แง่ง สามารถแยกออกไปปลูกได้
2. มีลำต้นอยู่ใต้ดินและมีใบสะสมอาหารกลายเป็นหัว เมื่อมีหัวงอกออกมาก็แยกไปปลูกได้
3. ไม่มีส่วนของกิ่งก้านที่จะขยายพันธุ์หรือปลูกโดยวิธีอื่น
4. เก็บเมล็ดพันธุ์ไปเพาะได้ยากหรือต้องใช้เวลานานในการเพาะเมล็ด เมล็ดจึงจะงอก จึงไม่ค่อยปลูกด้วยเมล็ด

พืชที่ขยายพันธุ์โดยการแยกหัวและหน่อ
1. ไม้ดอกไม้ประดับที่ขยายพันธุ์ด้วยหัวได้แก่ ว่านสี่ทิศ ซ่อนกลิ่น บัวรักเร่ บอนสี เป็นต้น
ไม้ดอกไม้ประดับที่ขยายพันธุ์ด้วยหน่อได้แก่ พุทธรักษา สร้อยทอง หน้าวัว เยอร์บีร่า เป็นต้น
2. พืชผักสวนครัวที่ขยายพันธุ์ด้วยหัวได้แก่ หอม กระเทียม เป็นต้น
พืชผักสวนครัวที่ขยายพันธุ์ด้วยหน่อได้แก่ ขิง ข่า ขมิ้น ตะไคร้ เป็นต้น
3. พืชชนิดอื่นที่ขยายพันธุ์ด้วยหัวได้แก่ เผือก สับปะรด มันฝรั่ง เป็นต้น

พืชชนิดอื่นที่ขยายพันธุ์ด้วยหน่อได้แก่ กล้วย หน่อ หน่อคือ ส่วนของพืชที่เจริญเติบโตมาจากต้นเดิม พัฒนาเป็นต้นใหม่ ซึ่งเรียกว่า หน่อ เพื่อให้ตัวเองมีจำนวนมากขึ้น พืชที่ขยายพันธุ์ด้วยวิธีนี้ได้แก่ ขิง ข่า กระชาย กล้วย พุทธรักษา หน้าวัว เยอร์บีร่า เป็นต้น

การขยายพันธ์พืช


ประโยชน์ของการขยายพันธุ์พืช
การขยายพันธุ์พืชมีประโยชน์ ดังนี้
1. ทำให้มีจำนวนต้นพืชมากขึ้น
2. ช่วยรักษาพันธุ์พืชที่มีลักษณะดีมิให้สูญพันธ์
3. ทำให้ได้พันธุ์พืชใหม่ที่มีคุณภาพดี
การคัดเลือกพันธุ์ การเลือกหัวและหน่อเพื่อใช้เป็นต้นพันธุ์ ควรปฏิบัติดังนี้
1. เลือกหัวและหน่อจากต้นพันธุ์ดี มีลักษณะตรงตามพันธุ์
2. เลือกหัวและหน่อที่สมบูรณ์แข็งแรง
3. มีขนาดเหมาะสมในการขยายพันธุ์ ขนาดไม่เล็ก ไม่โตจนเกินไป แตกใบอ่อนประมาณ 2-3 ใบ เลือกหัวและหน่อที่ปราศจากโรคและแมลงรบกวน
เครื่องมือในการขยายพันธุ์โดยการแยกหัวและหน่อ
เสียม สำหรับขุดคุ้ยดินเพื่อแยกหัวและหน่อของพืช
มีด สำหรับตัดแยกหน่อจากต้นเดิม
ช้อนปลูก สำหรับขุดหัวหน่อของพืชและขุดหลุม สำหรับพืชต้นเล็กๆ
จอบ สำหรับขุดแปลง หรือขุดหลุมปลูก

การเก็บรักษาเครื่องมือ
เมื่อใช้งานเสร็จแล้ว ล้างให้สะอาด เช็ดให้แห้ง ทาน้ำมันกันสนิมส่วนที่เป็นโลหะ เก็บเข้าที่ให้เรียบร้อย
วิธีแยกหัวและหน่อ การแยกหัวและหน่อของต้นพืชเพื่อนำไปปลูก มีขั้นตอนในการปฏิบัติดังนี้
1. เมื่อเลือกหัวและหน่อได้ตามต้องการแล้ว ใช้เสียมหรือช้อนปลูกขุดคุ้ยให้เห็นส่วนของหัวและหน่อที่แยกออกมาจากต้นเดิม
2. ใช้มีดคมๆเฉือนส่วนของหัวและหน่อที่ติดกับต้นเดิมให้ขาดออกจากกัน
3. ใช้เสียมหรือช้อนปลูกขุดหัวและหน่อที่เฉือนขาดจากต้นแม่แล้วขึ้นมา
4. ถ้าหัวและหน่อมีใบติดมาก ควรตัดใบทิ้งบ้างเพื่อป้องกันการคายน้ำ
5. ตัดรากที่ติดมากับหัวและหน่อ
6. นำไปปลูกในภาชนะหรือแปลงที่เตรียมไว้

ข้อดีและข้อเสียของการขยายพันธุ์ด้วยวิธีแยกหน่อและหัว
ข้อดี
1. ได้พืชที่มีลักษณะตรงตามพันธุ์เดิมทุกประการ
2. ทำได้ง่ายกว่าการขยายพันธุ์พืชโดยการใช้ส่วนต่างๆ ของพืช วิธีอื่นๆ
3. ให้ผลผลิตเร็วกว่าการขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ด
ข้อเสีย
1. ขยายพันธุ์ได้ครั้งละน้อยๆ
2. ทำได้ช้ากว่าการขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด
3. เสียค่าใช้จ่ายมากกว่า



วิธีปลูก
1. ขุดหลุมในภาชนะหรือแปลงที่เตรียมดินไว้แล้ว นำหัวและหน่อที่แยกไว้มาวางกลางหลุม
2. กลบดินให้มีส่วนยอดโผล่ออกมา ให้มีสภาพเหมือนก่อนแยกมาปลูก ระวังอย่าให้ดินกลบยอด หรือปลูกตื้นจนดินกลบรากไม่มิด
3. การปลูกเว้นระยะห่างระหว่างแถวและระหว่างต้น โดยคำนึงถึงขนาดการเจริญเติบโตของพืชเมื่อโตเต็มที่แล้ว ต้นพืชมีขนาดใหญ่ระยะห่างก็มาก ส่วนพืชที่มีขนาดเล็กระยะห่างก็น้อยลง
4. รดน้ำให้ชุ่มแต่อย่าให้แฉะขัง เพราะโคนต้นอาจเน่าตายได้ต่อไปรดน้ำทุกเช้าเย็น
5. ทำร่มบังแดด ประมาณ 3-5 วันควรทำในเวลาตอนเช้าหรือเย็นที่แดดไม่จัดมาก

ตัวอย่างการขยายพันธุ์พืชชนิดต่าง ๆ
ว่านสี่ทิศ
เป็นพืชที่มีใบสีเขียวบางชนิดมีสีขาวอยู่ตรงกลางใบดอกมีหลายสี เช่น สีแดง ส้ม ชมพู แสด ขาว เป็นต้น การขยายพันธุ์ เมื่อเลือกต้นพันธุ์ได้แล้ว ใช้ช้อนปลูกขุดที่โคนต้นจนเห็นหัวเดิมและหัวที่เกิดจากหัวของต้นแม่ ใช้ช้อนปลูกงัดหัวขึ้นมาจากดินเล็กน้อย จากนั้นใช้มีดตัดแยกส่วนของหัวที่เจริญออกมาจากต้นแม่แล้วทำการตัดแต่งใบและรากออกบางส่วน ก่อนนำไปปลูก การปลูก เมื่อเตรียมดินเสร็จ ใช้ช้อนปลูกขุดเป็นหลุม วางหัวว่านสี่ทิศลงไปกลบดินให้แน่น รดน้ำให้ชุ่มต่อไปรดน้ำเช้าเย็นทุกวัน

การขยายพันธ์พืช



การขยายพันธุ์พืชโดยใช้เมล็ด

การขยายพันธุ์พืชโดยใช้เมล็ด โดยปกติมักจะทำไปพร้อมๆ กับการปลูกพืชไปในตัว หรือพูดว่าการปลูกพืชโดยใช้เมล็ด ก็คือการขยายพันธุ์พืชโดยใช้เมล็ดนั่นเอง เช่นการปลูกข้าว ซึ่งเมล็ดข้าว ๑ เมล็ด เจริญเป็นต้นข้าวได้ ๑ ต้น และต้นข้าวที่ได้เมื่อโตขึ้นก็จะแตกกอเป็นหลายต้น แต่ละต้นก็จะออกรวงเกิดเป็นเมล็ดข้าวได้หลายเมล็ด ซึ่งเมื่อนำเมล็ดข้าวเหล่านี้ไปปลูกก็จะเจริญเป็นต้นข้าว\ได้หลายต้น ในทำนองเดียวกัน การปลูกข้าวโพดการปลูกข้าว ข้าวโพด ถั่วต่างๆ ฝ้าย ละหุ่ง ฯลฯ ก็เป็นไปแบบเดียวกันกับการปลูกข้าว จึงเห็นได้ว่าการปลูกพืชจากเมล็ดก็คือการขยายพันธุ์พืชโดยใช้เมล็ดนั่นเอง ในการขยายพันธุ์พืชโดยใช้เมล็ดนี้ ได้นำไปใช้ในงานด้านการเกษตรหลายด้านด้วยกัน ซึ่งเราพอจะแบ่งออกได้เป็นประเภทต่างๆ ดังนี้
๑. ใช้ในด้านการปลูกพืชและธัญพืช เช่น การปลูกข้าว ข้าวโพด ถั่วต่างๆ ละหุ่ง ฝ้าย งา ป่าน ปอ เป็นต้น เนื่องจากการปลูกพืชไร่และธัญพืชต้องทำในเนื้อที่มากๆ และต้องใช้ต้น พืชมาก ฉะนั้นการขยายพันธุ์ที่สะดวกก็คือ ขยายจากเมล็ด การกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นเล็กๆ น้อยๆ ไม่ถือเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งการปลูกพืชประเภทนี้ ส่วนใหญ่แล้วเป็นพืชอายุสั้น ๓-๔ เดือนเป็นส่วนใหญ่
๒. ใช้ในด้านการปลูกสวนป่า การปลูกสร้างสวนป่า ต้องปลูกเป็นจำนวนมาก และต้องการต้นพืชที่มีรากแก้ว เพราะมีความแข็งแรงกว่าขยายได้มากและรวดเร็ว อีกทั้งสะดวกที่จะถอนย้ายไปปลูกในที่อื่น ดังเช่นการปลูกสร้างสวนสักที่สถานีวนกรรมของกรมป่าไม้ทำอยู่ในขณะนี้ โดยที่เมล็ดของพืชสวนป่ามักจะเก็บมาจากต้นที่เจริญอยู่ในกลุ่มตามธรรมชาติ ในท้องที่ที่ได้คัดเลือกไว้แล้วฉะนั้นโอกาสการกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้น ถือได้ว่ามีน้อยมาก และมักจะไม่ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะในการปลูกสร้างสวนป่านั้น จะปลูกต้นพืชให้ชิดกัน เพื่อให้ทรงต้นตรงและชะลูด ต้นพืชจะแข่งกันเจริญไปในตัว ต้นใดที่มีความแข็งแรงน้อยกว่าก็จะถูกเบียดบังจากต้นที่โตกว่าจนไม่เจริญ หรือตายไปในที่สุดส่วนต้นที่แข็งแรงก็จะเจริญเติบโตต่อไป ฉะนั้นจึงเป็นการคัดเลือกต้นพืชไปในตัวด้วย
๓. ใช้ในด้านการขยายพันธุ์พืช โดยวิธีติดตาต่อกิ่ง โดยเฉพาะการขยายพันธุ์ไม้ยืนต้น ซึ่งต้องการต้นตอที่มีระบบรากที่หยั่งลึก ซึ่งสามารถจะทนลมพายุและทนแล้งได้ดีกว่าการขยายพันธุ์โดยวิธีอื่น เช่น การตอนกิ่ง หรือการตัดชำกิ่ง เป็นต้นฉะนั้นต้นที่ได้จากการขยายพันธุ์จากเมล็ดจึงเหมาะสมที่จะใช้เป็นต้นตอสำหรับนำไปติดตาและต่อกิ่งแต่เนื่องจากการขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด ต้นพืชที่ได้อาจกลายพันธุ์ได้ จึงต้องคัดต้นที่มีลักษณะไม่ตรงตามพันธุ์ที่ต้องการออก เพื่อให้ได้ต้นตอที่มีลักษณะตรงตามพันธุ์มากที่สุดไว้ เพื่อขยายพันธุ์ต่อไป
๔. ใช้ในด้านการปลูกผักและไม้ดอกล้มลุก โดยปกติพืชอายุสั้นจำเป็นต้องใช้ส่วนขยายพันธุ์ที่เจริญได้เร็ว และก็มีราคาถูกด้วย ในกรณีเช่นนี้การใช้เมล็ดปลูกหรือขยายพันธุ์จึงเป็นการลงทุนที่ต่ำ ที่สุด และทำได้สะดวกรวดเร็ว ดังนั้นการใช้เมล็ดขยายพันธุ์ หรือปลูกพืชเหล่านี้จึงเป็นวิธีเดียวที่จะทำได้ เช่น การปลูกผักบุ้ง คะน้า มะเขือเทศแอสเทอร์ และบานชื่น เป็นต้น
๕. ในงานด้านการผสมพันธุ์พืช เนื่องจากความต้องการในเรื่องอาหารและของใช้ที่เป็นปัจจัยในการครองชีพของมนุษย์มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ฉะนั้นพันธุ์พืชที่จะนำมากินมาใช้ก็ต้องมีการปรับปรุงตามไปด้วย การปรับปรุงพันธุ์พืชที่นำมากินมาใช้ให้เหมาะกับความต้องการนี้ก็ต้องอาศัยการกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นจากการเพาะเมล็ด โดยการผสมพันธุ์ต้นพืชที่มีลักษณะตามความต้องการแล้วเอาเมล็ดมาเพาะ จากนั้นจึงคัดเลือกต้นพืชที่มีลักษณะดีเด่นตามความต้องการไว้ใช้ในการปลูกหรือขยายพันธุ์ต่อๆ ไป
วิธีการขยายพันธุ์พืชโดยใช้เมล็ด ในการขยายพันธุ์พืชหรือปลูกพืชโดยใช้เมล็ดโดยทั่วไปมักจัดทำกันอยู่ ๓ แบบ คือ
๑. เพาะเมล็ดในแปลงเพาะ หรือในภาชนะเพาะ
๒. เพาะหรือปลูกเมล็ดในแปลงปลูกโดยตรง
๓. เพาะหรือปลูกเมล็ดในภาชนะเดี่ยว
แปลงผักกาดที่ปลูกโดยการใช้เมล็ด


การขยายพันธุ์ของมะพร้าวโดยใช้ผลหรือเมล็ดเพาะ



ข้อดีและข้อเสียของการขยายพันธุ์พืชโดยใช้เมล็ด
ข้อดี ๑. ทำได้ง่ายและได้ปริมาณมาก เพราะสะดวกในการปฏิบัติ
๒. เสียค่าใช้จ่ายน้อยเพราะไม่ต้องใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ตลอดจนฝีมือในการปฏิบัติมากนัก
๓. สะดวกในการขนส่งระยะทางไกลๆ เพราะทนทานและตายยาก ประกอบกับมีขนาดเล็กจึงสะดวกที่จะบรรจุหีบห่อหรือหยิบยก
๔. เก็บรักษาได้นาน เพราะไม่ต้องการสิ่งแวดล้อมในการดำรงชีวิตมาก เพียงแต่เก็บให้ถูกต้องเท่านั้น ๕. ได้ต้นพืชที่มีระบบรากดี เพราะมีรากแก้ว ดังนั้นจึงมีรากหยั่งลึก และการที่ต้นพืชมีรากลึกนี้ ย่อมมีผลทำให้
ก. ทนแล้งได้ดี เพราะสามารถดูดน้ำจากดินในระดับลึกๆ ได้
ข. หากินเก่ง เพราะอาจหาธาตุอาหารต่างๆ จากดินทั้งตามผิวหน้าดินและส่วนลึกได้อย่างครบถ้วน โอกาสที่จะขาดธาตุอาหารจึงมีน้อย
ค. ต้นพืชเจริญเติบโตดี เพราะมีอาหารพืชสมบูรณ์
ง. อายุยืน ซึ่งเป็นผลมาจากมีอาหารสมบูรณ์ ฉะนั้นจึงทนทานต่อแมลงได้ดี ต้นไม่ทรุดโทรมเร็ว และมีอายุการให้ผลยืนนาน
๖. ต้นพืชที่ได้ไม่ติดโรคไวรัส (virus) จากต้นแม่ โดยที่เชื้อไวรัสไม่อาจจะถ่ายทอดจากต้นแม่มายังลูก โดยอาศัยเมล็ดเป็นพาหะได้ ดังนั้นต้นลูกที่ได้จากการเพาะเมล็ดจากต้นที่เป็นโรคไวรัสจึงไม่ติดโรคนี้ แต่ก็อาจติดโรคนี้ได้ภายหลังที่งอกเป็นต้นพืชแล้ว
ข้อเสีย
๑. กลายพันธุ์ได้ง่าย เพราะต้นที่ได้เกิดจากการผสมพันธุ์ เว้นแต่เมล็ดพืชบางชนิดที่งอกได้หลายต้นใน ๑ เมล็ด ซึ่งอาจจะมีต้นที่ไม่กลายพันธุ์ได้
๒. ลำต้นสูงใหญ่ ไม่สะดวกในการเก็บเกี่ยวและดูแลรักษา
๓. ต้นมีโอกาสรับแรงปะทะลมได้มาก ทำให้ดอกและผลร่วงหล่นเสียหายมาก
๔. มักให้ผลช้า ต้องใช้เวลาในการเลี้ยงดูนาน กว่าจะให้ผลตอบแทน
๕. ปลูกได้น้อยต้นในเนื้อที่เท่ากัน ฉะนั้นจึงอาจให้ผลน้อยกว่าการขยายพันธุ์โดยวิธีอื่นที่ให้ต้นพืชพุ่มเล็กกว่า

การขยายพันธ์พืช

การติดตา (Budding)

การติดตา เป็นวิธีการขยายพันธุ์พืชที่นำเอาส่วนตาหรือกิ่งของพืชต้นหนึ่ง ซึ่งเป็นพืชพันธุ์ดีหรือ กิ่งพันธุ์ดี ไปติดเข้ากับพืชอีกต้นหนึ่ง เพื่อให้ตาของพืชเจริญเติบโตเป็นพืชต้นใหม่ต่อไป ส่วน ต้นตอ ซึ่งทำหน้าที่เป็นระบบราก นั้น เป็นต้นพืชที่มีความแข็งแรง หาอาหารเก่ง เจริญเติบโตเร็ว ทนต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมได้ดี พืชที่นิยมขยายพันธุ์ด้วยการติดตา มีทั้งไม้ดอก ไม้ประดับและไม้ผล การติดตา เป็นวิธีการขยายพันธุ์พืชอีกวิธีหนึ่งที่มีความสำคัญทางด้านการช่วยเปลี่ยนยอดต้นพืชที่มีลักษณะไม่ดี ให้เป็นพันธุ์ดีได้ ทำให้พันธุ์พืชมีความแข็งแรง ต้านทานศัตรูและความแห้งแล้งได้ดี เพราะมีต้นตอที่แข็งแรง สามารถขยายพันธุ์ได้จำนวนมาก เพราะกิ่งพันธุ์แต่ละกิ่งจะมีหลายตา นอกจากนี้ ยังช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพันธุ์ไม้ด้วย โดยเฉพาะการผลิตพืชแฟนซี ซึ่งเป็นพืชที่ให้ผลผลิตหลายอย่างในต้นเดียวกัน เช่น มะม่วงอกร่องมะม่วงเขียวเสวย มะม่วงน้ำดอกไม้ ในต้นเดียวกัน หรือไม้ดอก เช่น กุหลาบ จะมีดอกหลายสีในต้นเดียวกัน ฯลฯ ทั้งนี้ การติดตา สามารถ ทำได้สะดวก รวดเร็ว โดยสามารถนำตาจากกิ่งพันธุ์ดี จากแหล่งหนึ่งไปทำการติดตาอีกแหล่งหนึ่งได้ แต่อาจต้องใช้เวลาในการบังคับและเลี้ยงตาใหม่ให้เป็นต้นพืช ยาวนานกว่าการต่อกิ่ง ดังนั้นผู้ที่ทำการขยายพันธุ์พืชด้วยวิธีการติดตา ได้ดี ต้องมีความชำนาญและประณีตในการขยายพันธุ์

การขยายพันธ์พืช


ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการติดตา
ได้แก่
1) ต้นตอ
2) กิ่งพันธุ์ดี
1) ต้นตอ หมายถึง ส่วนของต้นพืชที่ทำหน้าที่เป็นระบบราก หาอาหารหล่อเลี้ยงต้นพืช มี 2 ชนิด คือ
(1) ต้นตอที่ได้จากการเพาะเมล็ด
(2) ต้นตอที่ได้จากการตัดชำ ตอนกิ่ง หรือแยกหน่อ
(1) ต้นตอที่ได้จากการเพาะเมล็ด ส่วนมากนิยมใช้กับพืชประเภทไม้ผล เช่น มะม่วง ขนุน ทุเรียน มะขาม เป็นต้น ต้นตอที่มีลักษณะดี จะต้องมีลำต้นตั้งตรง ไม่บิดคด หรือมีรอยต่อระหว่างต้นและราก เป็นแบบคอห่าน ซึ่งเกิดจากการวางเมล็ดลงเพาะผิดวิธี
(2) ต้นตอที่ได้จากการตัดชำ ตอนกิ่ง หรือแยกหน่อ บางครั้งเรียกว่า ต้นตอตัดชำ ส่วนมากนิยมใช้กับพืชประเภทไม้ดอกไม้ประดับ เช่น กุหลาบ ชบา เข็ม โกสน เฟื่องฟ้า ผกากรอง โมก ฯลฯ เป็นต้น ข้อเสียของต้นตอตัดชำ คือ มีระบบรากตื้น แต่ถ้านำไปเป็นต้นตอสำหรับไม้ผล จะต้องทำการเสริมราก เพิ่มขึ้นการเลือกพันธุ์พืชสำหรับใช้เป็น ต้นตอ ควรมีคุณสมบัติ ดังนี้
(1) เจริญเติบโตเร็ว ปราศจากโรคและแมลง และทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดี
(2) ขยายพันธุ์ได้ง่าย ทั้งด้วยวิธีเพาะเมล็ด ตัดชำหรือตอนกิ่ง
(3) สามารถเชื่อมต่อกับกิ่งพันธุ์ดีต่าง ๆ ได้มาก
(4) หาเมล็ดหรือต้นได้ง่าย
(5) เป็นพืชที่มีความบริสุทธิ์ของพันธุ์สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้นตอที่ได้จากการเพาะเมล็ด
2) ตาจากกิ่งพันธุ์ดี หมายถึง ส่วนของพืชที่ทำหน้าที่เป็นระบบยอดในต้นพืช สำหรับการขยายพันธุ์โดยวิธีการติดตาการเลือกพันธุ์พืชสำหรับใช้เป็น กิ่งพันธุ์ดี ควรมีคุณสมบัติ ดังนี้
(1) เป็นกิ่งที่มีตาแข็งแรง ไม่ว่าจะเป็นตายอดหรือตาข้าง
(2) ควรเลือกจากกิ่งกระโดง หรือกิ่งน้ำค้าง
(3) เป็นกิ่งที่มีความสมบูรณ์ปานกลาง โดยสังเกตจากข้อ ที่ไม่ถี่หรือห่างเกินไป
(4) ตาของกิ่งพอเหมาะ คือ มีขนาดพอประมาณเท่าดินสอดำ
(5) เป็นกิ่งที่ได้จากต้นแม่ที่แข็งแรง สมบูรณ์ ไม่มีโรค
(6) ถ้าเป็นกิ่งแก่ ควรมีอายุไม่เกิน 1 ปี เพราะถ้าอายุมากเกินไป ตาที่ติดจะไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร

การขยายพันธ์พืช


วิธีการติดตา
การติดตา เป็นวิธีการขยายพันธุ์พืชที่ประหยัดกิ่งพันธุ์ดี เพราะแทนที่จะใช้กิ่งพันธุ์ดีหลายตาเหมือนการต่อกิ่ง กลับใช้กับกิ่งพันธุ์ดีเพียงตาเดียว ซึ่งจะอยู่บนส่วนของแผ่นเปลือกไม้ ซึ่งอาจจะมีเนื้อไม้หรือไม่มีเนื้อไม้ ก็ได้ ขบวนการประสานเนื้อเยื่อที่เกิดขึ้นจากการติดตา มีลักษณะเช่นเดียวกับการต่อกิ่งทุกประการเครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการติดตา
1) ส่วนของพืชที่จะขยายพันธุ์ คือ กิ่งพันธุ์ดี
2) ส่วนของพืชที่เป็นระบบราก คือ ต้นตอ
3) มีดขยายพันธุ์หรือคัตเตอร์หรือมีดติดตาต่อกิ่ง
4) กรรไกรตัดแต่งกิ่ง
5) แถบพลาสติกพันกิ่ง
ข้อสังเกตเกี่ยวกับการติดตาที่ได้ผลดี มีดังนี้
1) ตาต้องอยู่ในสภาพพร้อมที่จะเจริญเติบโต และอยู่ในระยะพักตัว คือช่วงฤดูหนาว และสังเกต ตาจะนูนออกมาคล้ายๆ กับตาที่กำลังจะแตกยอดใหม่
2) ต้นตอต้องอยู่ในช่วงที่ไม่พักตัวคือ เป็นช่วงที่กำลังเจริญเติบโต เนื้อเยื่อเจริญกำลังแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว สังเกตจากเวลาใช้มีดกรีดเปลือกไม้จะมีน้ำยางไหลออกมา
3) รอยแผลที่เฉือนแผ่นตาจะต้องเรียบ แผ่นตาไม่ช้ำและฉีกขาด
4) การพันพลาสติก ควรพันให้แน่นและปิดรอยแผลไม่ให้น้ำเข้าได้ เพราะถ้าหากน้ำเข้าไปที่แผลติดตา จะทำให้ตาของพืชเน่าตายได้
5) ตาที่ติดนั้นจะต้องทำให้เนื้อเยื่อเจริญสัมผัสกับต้นตอมากที่สุดและไม่ให้ถูกแดดจัดส่องตลอดเวลา เพราะจะทำให้ตาเหี่ยวและแห้งตาย
6) มีดและมือจะต้องสะอาดปราศจากเชื้อโรคหากเชื้อโรคเข้าแผล
อาจทำให้แผลเน่าและตาไม่ติดและเน่าตายได้รูปแบบการติดตา มีหลายวิธี ได้แก่
1) การติดตาแบบรูปตัวที (T Budding or Shield Budding)
2) การติดตาแบบเพลต (Plate Budding)
3) การติดตาแบบแพตซ์ (Patch Budding)
4) การติดตาแบบชิพ (Chip Budding)แต่ที่นิยมใช้ ได้แก่ การติดตาแบบรูปตัวที (T Budding or Shield Budding) การติดตาแบบรูปตัว ที มีขั้นตอน ดังนี้
1) เลือกกิ่งที่สมบูรณ์ ไม่มีโรคและแมลง แล้วใช้ปลายมีดกรีดเปลือกให้เป็นรูปตัวที (T) โดยกรีดให้ลึกถึงเนื้อไม้ ความยาวของตัวที (T) ประมาณ 3 เซนติเมตร
2) เฉือนตาของกิ่งพันธุ์ดีให้เป็นรูปโล่ ยาวประมาณ 1 นิ้ว หรือมากกว่าเล็กน้อย และเฉือนให้มีเนื้อไม้ติดมาด้วย
3) ลอกเนื้อไม้ที่แผ่นตาออก ระวังอย่าให้แผ่นตาช้ำหรือสกปรก
4) สอดแผ่นตาลงในแผลของต้นตอที่กรีดไว้ทางหัวรูปตัวที (T) แล้วเลื่อนแผ่นตาลงไปให้อยู่ตรงกลางพอดี ถ้ามีแผ่นตาเหลือยาวเกินรูปตัว (T) ให้ตัดออกเสมอหัวรูปตัวที (T)
5) ใช้พลาสติกพันกิ่งพันแผลที่ติดตาให้แน่น โดยพันจากบนลงล่าง เพื่อให้เนื้อเยื่อของแผ่นตาแนบสนิทกับลำต้น เพื่อป้องกันน้ำไหลเข้าไปในแผลที่ติดตา6) หลังจากการติดตาเสร็จแล้วประมาณ 7-10 วัน ให้ตรวจดูถ้าแผ่นตายังมีสีเขียวอยู่ แสดงว่า แผ่นตาที่นำไปติดกับต้นตอเชื่อมติดกันได้แล้ว จึงพันพลาสติกใหม่ โดยเว้นช่องตา

การขยายพันธ์พืช


การต่อกิ่ง (Grafting)


การต่อกิ่ง เป็นวิธีการขยายพันธุ์พืชโดยไม่ใช้เพศที่สามารถทำได้โดยการนำกิ่งพันธุ์ดีที่มีตามากกว่า 1 ตา มาต่อบนต้นตอ เพื่อให้เนื้อเยื่อเจริญทั้งสอง เชื่อมประสานเป็นต้นเดียวกัน การขยายพันธุ์ด้วยวิธีต่อกิ่ง จะดีกว่าการติดตามาก เพราะจะได้รอยต่อที่แข็งแรงกว่ามาก การต่อกิ่งนิยมใช้อย่างแพร่หลาย และได้ผลดีกับพืชบางชนิด เช่น เฟื่องฟ้า ชบา โกสน เล็บครุฑ มะม่วง พุทรา ขนุน องุ่น ฯลฯความมุ่งหมายที่สำคัญของต่อการกิ่งพืช คือ เพื่อต้องการเชื่อมประสานเนื้อเยื่อของพืชที่เป็นต้นตอและกิ่งพันธุ์ดีเข้าด้วยกัน ให้มีชีวิตและเจริญเติบโตร่วมกัน เสมือนเป็นพืชต้นเดียวกัน ทั้งนี้ การต่อกิ่งพืช สามารถเลือกทำได้หลายวิธีตามความเหมาะสม ขึ้นอยู่กับชนิดของพืช ฤดูกาลและความชำนาญของผู้ต่อกิ่งการต่อกิ่งมีคุณค่าและความสำคัญต่อวงการปลูกไม้ดอกไม้ประดับ และไม้ผลมาก ซึ่งเห็นได้ชัดเจน ได้แก่ การเพิ่มและช่วยเปลี่ยนยอดพันธุ์เดิมที่ปลูกอยู่แล้ว ให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น เช่น การเพิ่มยอดกิ่งเฟื่องฟ้าให้มีหลากหลายสี การเปลี่ยนยอดต้นโมกเขียวให้เป็นโมกด่าง การเปลี่ยนยอดมะม่วงให้เป็นมะม่วงแฟนซี คือมีหลายพันธุ์ในต้นเดียวกัน นอกจากนี้ การต่อกิ่ง ยังเป็นการช่วยซ่อมแซมส่วนของต้นพืชที่ได้รับอันตรายจากธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากต้นตอที่มีลักษณะทนทานต่อสภาพแวดล้อมและศัตรูพืช